ยินดีต้อนรับสู่วัดสำโรงเกียรติ
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  
   Main webboard   »   ข่าว พุทธศาสนา
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   พระพุทธศาสนาแก้วิกฤตโลก!!  (Read: 1308 times - Reply: 0 comments)   
yutthakit (Admin)

Posts: 6 topics
Joined: 3/3/2552

พระพุทธศาสนาแก้วิกฤตโลก!!
« Thread Started on 9/5/2552 10:26:00 IP : 124.120.182.73 »
 

พระพุทธศาสนาแก้วิกฤตโลก!!

เมื่อหลักธรรมคำสอนของ "พระพุทธเจ้า" ศาสดาแห่งศาสนาพุทธ มาบรรจบสอดผสานกับเรื่องการค้นพบของ "ไอน์สไตน์" ธรรมที่เดินทางมากว่าสองพันห้าร้อยปีเศษ ได้กลายมาเป็นเส้นทางที่คนทั่วโลกสนใจและแสวงหา

เพราะพิสูจน์แล้วว่าหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์นั้นเป็น หนทางแห่งการพ้นทุกข์ ยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์สาขาใดๆ

หลักธรรมทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข เกิดความอบอุ่นแก่ชาวโลก ปฏิบัติตนให้อยู่อย่างสงบ ไม่เบียดเบียน ก็พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง และหากไปถึงขั้นสูงสุด "นิพพาน" คือการไม่เกิดอีก

คนทั่วโลกจึงหันมาสนใจ "ศาสนาพุทธ" เรียนรู้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง กระทั่งประกาศให้วันสำคัญยิ่งของชาวพุทธ คือ "วันวิสาขบูชา" เป็นวันสำคัญของโลก โดยสหประชาชาติ

สำหรับปีนี้ตรงกับวันที่ 8 พฤษภาคม 2552 ซึ่งรัฐบาลไทยร่วมกับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) จัดกิจกรรมชาวพุทธนานาชาติขึ้น ทั้งที่ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ที่มหา วิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และที่สหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร

กิจกรรมที่ มจร.จัดขึ้นที่ อ.วังน้อย นั้นมีพระสงฆ์จากประเทศต่างๆ จากทั่วโลกเข้าร่วม 80 ประเทศ อาทิ จากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ศรีลังกา เนปาล ทิเบต ไปจนถึงเวียดนาม และแอฟริกา อีกทั้งยังมีนักวิชาการ นักปราชญ์ด้านพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน ผู้แทนมหาเถรสมาคม ฯลฯ รวมแล้วเกือบ 5,000 คน

เพราะหัวข้อที่นำมาถกกันปีนี้ว่าด้วยเรื่อง "พระพุทธศาสนากับการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ของโลก" เป็นวิกฤตการณ์ในด้านต่างๆ ตั้งแต่เศรษฐกิจ, สิ่งแวดล้อม, การเมืองและพัฒนาสันติภาพ ไปจนถึงด้านการศึกษา

ในหัวข้อ "พระพุทธศาสนากับการแก้วิกฤตทางการเมืองและพัฒนาสันติภาพ" ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะเพิ่งเกิดเหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ ในเมืองไทย เมื่อมีการปะทะจนหวิดเกิดสงครามกลางเมือง ระหว่าง กลุ่มคนเสื้อเหลือง และ กลุ่มคนเสื้อแดง ในประเทศไทย

วิทยากรที่ขึ้นเวทีประกอบด้วย พระอาจารย์พรัหมวังโส (อ่านพรัม-วัง-โส) จากประเทศออสเตรเลีย ตามด้วย ดร.สมภาร พรหมทา ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.จอห์น วอลล์เลน-บริดจ์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ดำเนินการอภิปรายโดย นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ จากสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า

ท่านอาจารย์พรัหมวังโสกล่าวเป็นท่านแรกว่า แม้ว่าเป็นพระภิกษุออกไปจากโลกฆราวาสแล้ว แต่โลกฆราวาสก็ยังวิ่งมาหาจึงไม่อาจจะหนีจากการเมืองได้ ที่สำคัญขาดไม่ได้และไม่อาจละเลย คือการช่วยหาวิธีทางธรรมนำไปใช้ทางด้านการเมืองแก่คนรอบข้าง

"พระธรรมทางโลกศาสนาเป็นสิ่งที่มีประ โยชน์มากมายกับโลกนี้ แต่ก็ได้ละเลยกันไป ในโลกตะวันตกเรามีพระคริสเตียน อิสลาม ซึ่งมีพรรคการเมืองอิง แต่คงไม่กล้าที่จะพูดว่าให้มีพรรคศาสนาพุทธในประเทศไทย ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนก็แล้วแต่ เพราะในทางศาสนาพุทธแล้วนั่นไม่ใช่บทบาทของพระสงฆ์ ไม่ใช่กิจของสงฆ์"



พระอาจารย์พรัหมวังโสเล่าว่า ได้พบกับพระรูปหนึ่งซึ่งเป็นนักการเมืองอยู่ในรัฐสภาศรีลังกา ซึ่งเข้าไปเป็นนักการเมือง เพราะอยากใช้ความรู้ความสามารถทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น แต่ปรากฏว่าเมื่อเข้าไปแล้วผิดหวัง พบว่ามีการทุจริตมากมาย ถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่หลวงของท่าน เนื่องจากพระสงฆ์ไม่เหมาะกับพรรคการเมือง เพราะ "พระน่าจะเป็นผู้ให้คำแนะนำมากกว่า"

"ให้คำแนะนำที่ดีแก่พรรคการเมือง แนะนำในการใช้อำนาจของเขาอย่างมีประสิทธิภาพ...สิ่งสำคัญคือสอนให้เขารู้จัก ฟัง เพราะหลายครั้งที่เกิดความขัดแย้ง เกิดจากการไม่ฟังเสียงของอีกฝ่ายพูด ไม่ฟังว่าเขาพูดว่าอย่างไรแล้วยังไปทึกทักว่าเขาพูดอย่างนั้นอย่างนี้ เรื่องราวขัดแย้งต่างๆ จึงเกิดขึ้น"

พระอาจารย์มีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม ท่านเล่าว่า เมื่อครั้งยังอยู่ออสเตรเลีย เดินผ่านครัวของวัด มีผู้หญิง 6 คนกำลังปรุงอาหารเพื่อถวายพระ มองเข้าไปในกลุ่มนั้นเห็นว่าทุกคนกำลังเปิดปากพูดกันทั้งนั้น ถ้าคน 6 คนเปิดปากพูด แล้วมีอยู่ 6 คนเท่านั้น ถามว่าใครจะเป็น คนฟัง

"ในเรื่องของความขัดแย้ง เพราะมีคนหลายคนพูดมากเกินไป และไม่มีใครฟัง เพราะฉะนั้นในสถานการณ์แห่งความขัดแย้ง เราจำเป็นต้องเป็นคนที่ฟังให้มากเข้าไว้"

ยังมีตัวอย่างอีก...เป็นเรื่องของพี่น้องสอง สาวขัดแย้งกันเรื่อง "ส้ม" คนพี่บอกว่าต้องการส้มลูกนี้ คนน้องบอกว่าไม่ได้ เพราะได้ไปสองครั้งแล้ว ตานี้เป็นของน้องบ้าง เกิดการโต้เถียงกัน สุดท้ายตกลงแบ่งส้มกันคนละครึ่ง คนหนึ่งปอกเปลือกส้มแล้วกินเนื้อ ทิ้งเปลือกลงถังขยะ ส่วนอีกคนปอกเปลือกส้มแล้วเอาเปลือกเก็บไว้ แต่ทิ้งเนื้อลงถังขยะ

"จะเห็นว่าถ้าสองคนพี่น้องพูดคุยตกลงกัน ฟังกันว่าเขาต้องการส้มอย่างไร ทั้งสองคนก็จะได้ประโยชน์มากกว่าที่ได้ คนหนึ่งจะได้กินเนื้อส้มมากขึ้น อีกคนก็จะได้เปลือกส้มไปทำเค้กหมดทั้งลูก แต่เขาไม่ได้ เพราะไม่ฟังกัน

"เพราะฉะนั้นในการจะก่อให้เกิดสันติภาพและแก้ปัญหาความขัดแย้ง เราต้องเรียนรู้ในการฟังกันและกัน ถ้าเราฟังกัน เราจะรู้ว่าเรามีหลายสิ่งที่เหมือนกันแทนที่จะโต้แย้งกัน เราควรใช้ทำประโยชน์ของการทำสมาธิ สอนให้เราเงียบในใจและสามารถฟังในสิ่งที่พูดออกมา"

ท่านอาจารย์พรัหมวังโสกล่าวอีกว่า นิตยสารไทม์ได้ทำการวิจัยพบว่าในการไปฟังบรรยายของคนอเมริกันงานหนึ่งๆ 90% ของคนที่ไปไม่ได้ฟังเรื่องที่เขาพูดแต่คิดเรื่องเพศ มี 2-3 คนเท่านั้นที่ฟัง เพราะฉะนั้นจะได้ประสบการณ์ได้อย่างไรถ้าไม่ฟัง และไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมเด็กในโรงเรียนจึงเรียนหนังสือได้ไม่ดีเท่าไหร่

"ทั้งเรื่องของกลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อขาว เสื้อน้ำเงิน ทำไมเกิดความขัดแย้งกัน ความขัดแย้งมาจากไหน ก็เพราะว่าคนไม่ฝึกตัวเองให้รู้จักฟัง ถ้าเราเริ่มต้นจากการฟังแล้วเราสามารถที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ทำให้ชาญฉลาด การฟังจะเติมเต็มในส่วนที่เราเรียนรู้เข้าไป แทนที่จะแข่งขันกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะไม่ให้เกิดข้อโต้แย้งหรือขัดแย้งกัน ต้องเป็นผู้ฟัง ในบริบทของเมืองไทยคนเสื้อแดงต้องฟังคนเสื้อเหลืองพูด และคนเสื้อเหลืองก็ต้องฟังคนเสื้อแดง" เป็นข้อสรุปการสร้างสันติภาพจากท่านอาจารย์พรัหมวังโส


(จากซ้าย) พระอาจารย์พรัหมวังโส, ดร.สมภาร พรหมทา, นพ.วันชัย วัฒนศัพท์



ท่านอาจารย์จากออสเตรเลียยังมีนิทานสนุกๆ มาเล่าให้ฟังเชื่อมโยงไปกับเรื่องการเมือง ท่านเล่าว่ามีการเปิดรับสมัครงานของบริษัทแห่งหนึ่ง แล้วมีคนมาสมัคร 3 คน ทุกคนถูกตั้งคำถามเหมือนกันว่า "2+2 เป็นเท่าไหร่" คนแรกนับนิ้วตอบว่า 4 คนที่สองเอาเครื่องคิดเลขออกมากดบอกว่า 4 ส่วนคนสุดท้ายบอกว่า "เป็นเท่าไหร่ก็ได้แล้วแต่หัวหน้าจะบอก" ปรากฏว่าคนสุดท้ายเลยได้งานไป

"ในพรรคการเมืองก็เหมือนกัน บางครั้งทำให้คนเราขาดความซื่อสัตย์สุจริตไป เพราะฉะนั้นการจะเลือกนักการเมืองเราต้องดูสิ่งที่เขาทำในอดีต ไม่ใช่ดูจากสิ่งที่เขาสัญญาว่าจะทำในอนาคต นั่นจะทำให้ลดความขัดแย้งลงได้ การแข่งขันยิ่งสูง ความร่วมมือก็ไม่ค่อยมี และเพราะเราไม่มีการเรียนรู้ที่จะร่วมมือกันตั้งแต่เด็ก จึงไม่มีการร่วมมือกันทำงาน มีแต่การแข่งขันตลอด"

ท่านอาจารย์พรัหมวังโสทิ้งไว้เท่านั้น จากนั้นเป็นท่านอาจารย์ ดร.สมภาร พรหมทา ท่านว่าอยากเริ่มต้นจากข้อเท็จจริงบางประการ ของสงครามเล็กๆ ในกรุงเทพฯ ถ้าดูทีวีในช่วงนั้นจะเห็นคนที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มเสื้อแดง" มีการประท้วงรัฐบาล ก่อนหน้านั้นสองปีก็คงเห็นคนจำนวนมากที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มคนเสื้อเหลือง" ก็ทำเหมือนๆ กับคนเสื้อแดง คิดว่าความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อแดงกับเสื้อเหลืองในไทยปัจจุบันนี้เป็น ปัญหารุนแรงและปัญหานั้นเพิ่งเริ่มต้น

"คิดว่าเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนาในการอธิบายว่าทำไมสิ่งนั้นเกิดขึ้น และสามารถแก้ไขด้วยหลักธรรมะ"

พระอาจารย์ ดร.สมภารกล่าวว่า ความแตกต่างระหว่างคนสองกลุ่ม...คนเสื้อเหลืองส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางใน เมือง เพราะฉะนั้นมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองสามารถบอกได้ ส่วนคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านมาจากภาคเหนือและอีสานของไทย

"ปัญหาที่สำคัญที่สุดที่ทำให้สังคมไทยเจอปัญหาทางด้านการเมือง คือคนในหมู่บ้านไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร ซึ่งไม่แปลก เพราะประชาธิปไตยในไทยนั้นมีการนำเข้ามาในบ้านเมืองเราโดยชนชั้นกลางที่ไป เรียนมาจากตะวันตก และมาถึงเวลานี้ เมื่อเร็วๆ นี้ได้ยินว่ารัฐบาลถามชาวบ้านในอีสานให้เข้ามาร่วมฝึกอบรมการใช้อินเตอร์ เน็ต รัฐบอกกับชาวบ้านว่าอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ดี คอมพิวเตอร์ก็ควรใช้ แต่ทั้งสองอย่างนี้ไร้ความหมาย เพราะชาวบ้านไม่เข้าใจ

"ประชาธิปไตยก็เหมือนกับการบังคับให้ชาวบ้านใช้อินเตอร์เน็ต เพราะเขามองไม่เห็นประโยชน์ และการที่เขาไปร่วมกับเสื้อแดงเพราะไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยเป็นอย่างไร ภายในใจของคนเสื้อแดงนั้นก็มีคนจำนวนมากที่มาจากภาคอีสาน ภาคอีสานเป็นภาคที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย นั่นหมายความว่าถ้าตั้งพรรคการเมืองและต้องการชนะการเลือกตั้งต้องเป็นคน อีสาน และรู้กันดีว่าอีสานเป็นดินแดนที่มีการฝึกพุทธศาสนาประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ทำไมเราเห็นช่องว่างระหว่างความเข้าใจเรื่องการเมือง มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ผิดพลาดในภูมิภาคนี้"

ขณะเดียวกัน ท่านอาจารย์สมภารก็มีคำตอบด้วยว่า...อาจเป็นไปได้ว่าเมื่อคนอีสานปฏิบัติ ธรรม ทำสมาธิ เขาอาจไม่เข้าใจว่าการทำสมาธิเป็นการทำให้คนในชุมชนเกิดความเข้าใจซึ่งกัน และกัน เขาคิดว่าการทำสมาธิเป็นเรื่องส่วนตัว

"ดังนั้น ผมเห็นว่าการจะขยายธรรมเข้าสู่การเมือง ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องพูดว่าการฝึกปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องส่วนตัว การสอนพุทธศาสนาเป็นหนทางที่เป็นไปได้สำหรับการประยุกต์มาใช้กับการเมือง ในเรื่องของการใช้หลักธรรม ความรักและความกรุณา"

ท่านอาจารย์สมภารกล่าวว่า เหตุการณ์จลาจลที่เกิดขึ้น ในทีวีคนจะเห็นมีพระรูปหนึ่งวิ่งไปทุบรถของนายกรัฐมนตรีอย่างรุนแรง แต่ไม่ควรตำหนิพระรูปนั้น เพราะต้องคิดให้รอบคอบ พระอาจมีบางสิ่งที่อยู่ในใจ มีความเครียดในใจ และคิดว่าพระน่าจะมาจากภาคอีสาน มีความยากจนเหมือนคนอื่นในหมู่บ้าน

"คนในเมืองอาจไม่เข้าใจว่าทำไมพระทำแบบนี้ แต่ถ้าเราดูเรื่องการสอนเรื่องสติปัญญาความรักความกรุณาแล้วจะเข้าใจ เพราะพระรูปนี้คิดว่าท่านเป็นคนของหมู่บ้าน อะไรก็แล้วแต่ที่เหมาะสมกับหมู่บ้าน เขาเต็มใจที่จะเข้าไปร่วมเพื่อหมู่บ้าน ถ้าทำความเข้าใจระหว่างคนในเมืองและคนในชนบทก็คิดว่าน่าจะหาทางแก้ปัญหาได้"

เพราะแท้จริงแล้วพระพุทธเจ้าท่านว่าการชี้ให้เห็นปัญหาจะทำให้ไม่เกิดปัญหา

ด้าน ดร.จอห์น กล่าวถึงเรื่องของการมีทุกข์ การพ้นทุกข์ และการทำสมาธิ ช่วยให้พบความสุข เพื่อนำความสุขนั้นไปรักษาร่างกายให้พ้นทุกข์

"ความทุกข์ทรมานนั้นเราต้องปล่อยมันไป ในทางพุทธท่านสอนเรื่องของอริยสัจ 4 คือเรามีมรรค 8 เป็นหนทางในการพ้นทุกข์ จึงคิดว่าในเรื่องของการสร้างสันติภาพนั้น เรารู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังทรมาน มีความทุกข์ มีความตึงเครียด ในทางพุทธศาสนาคือต้องมีความเข้าใจที่แท้จริง จากนั้นแล้วมาไตร่ตรองให้รู้ในเรื่องที่เกิดขึ้น ความเห็นของผมคือ เราสามารถฝึกสมาธิได้หลายวิธี เปิดใจให้กว้าง เน้นในเรื่องของการเอาใจใส่ ในความขัดแย้งมีสิ่งสับสนอลหม่านต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เราจำเป็นต้องเอาใจใส่อย่างระมัดระวัง

"ในทางพุทธศาสนาปัญหามาจากการติดยึดทางใจของเราเอง ไม่ได้มาจากภายนอก ดังนั้นเราต้องปล่อยวาง...ปล่อยวางไปเสีย พระพุทธ เจ้าบอกว่าอะไรเป็นสิ่งที่ติดอยู่ในใจของเรา-เราต้องปล่อยวาง"

ในความคิดเห็นของ ดร.จอห์น "คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าสามารถจัดการกับปัญหาความขัดแย้งได้"
-----------

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share

กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   ข่าว พุทธศาสนา
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Advertising Zone    Close


Online: 1 Visits: 253,943 Today: 5 PageView/Month: 179

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...